ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ๒ ห้วยคล้า (พรหมดิเรกอนุสรณ์) เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งตามความเห็นชอบของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตามหนังสือที่ ศธ ๐๘๐๖/๓ ๕๒๘๔ ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓ เพื่อสนองนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในด้านขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยให้เด็กมีโอกาสเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษามากขึ้น
          นายทองสูรย์ ฉลวยศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัยและผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้นายปราชญ์ ชาวสวน อาจารย์ ๒ ระดับ ๖ โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย เข้าร่วมประชุมประสานงานกับสภาตำบลหมากเขียบคณะกรรมการหมู่บ้านนิคมห้วยคล้า เพื่อจัดตั้งโรงเรียนขึ้น นายสวัสดิ์ - นางประสิทธิพร พรหมดิเรก ได้แสดงความจำนงในการบริจาคที่ดิน ๑๘ ไร่ ให้สร้างโรงเรียน ต่อมาเจ้าหน้าที่นิคมสร้างตนเองห้วยคล้าได้ตรวจสอบที่ดินแล้วมีเนื้อที่จริงเพียง ๑๔ ไร่ ๓ งาน ๔๔ ตารางวา
          วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๔ นายปัญญา มัคนา และคณะกรรมการหมู่บ้านนิคมห้วยคล้า ๑ จึงได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์และร่วมมือกันสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นครั้งแรกมีขนาด ๗.๐๐ X ๒๙.๐๐ เมตร แลแบ่งเป็น ๓ ห้องเรียน การก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๔ รวมราคาค่าก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น ๗๐,๐๐๐ บาท
          โรงเรียนจึงได้ปฐมฤกษ์ เปิดสอนครั้งแรกในวันศุกร์ที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนทั้งสิ้น ๑๐๗ คน แบ่งเป็นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๓ ห้องเรียน มีแผนการเรียนเพียง ๑ แผน คือแผนการเรียนวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ พื้นฐานช่างอุตสาหกรรม โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย สาขาห้วยคล้า"
          วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง นายก่อ  สวัสดิพานิช ได้ประกาศตั้งให้โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย สาขาห้วยคล้า เป็นโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษามีชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนห้วยคล้าวิทยา"
          วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ โรงเรียนเปิดเรียนเป็นปีที่ ๒ มีนักเรียนเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๑๑๔ คน แบ่งเป็น ๓ ห้อง รวมเป็น ๖ ห้อง วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ คณะกรรมการหมู่บ้านจึงได้ช่วยกันต่ออาคารเรียนชั่วคราว ๔ ห้องเรียน ขนาด ๗X๓๖ เมตร แล้วเสร็จและใช้เรียนได้ในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕
          วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ นางประสิทธิพร พรหมดิเรก ผู้บริจาคที่ดินอาคารเรียน และเจ้าหน้าที่จากกรมสามัญศึกษา โดยนายบุญเกิด เมืองสุข และคณะได้มาตรวจดูสภาพพื้นที่เพื่อสร้างอาคารเรียนถาวร
          วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ นายศิวะ  แสงมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษได้มาเยี่ยมชมโรงเรียนห้วยคล้าวิทยา เห็นว่าที่คับแคบเกิน ควรได้เนื้อที่เพิ่มเติมมากกว่านี้
          วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๕ นายเศรษฐวัชระ  กุมุท สถาปนิกการออกแบบจากกองช่างกรมสามัญศึกษา และคณะได้มาจัดทำผังโรงเรียน
          ปีงบประมาณ ๒๕๓๕-๒๕๓๖ กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อก่องสร้างอาคารเรียนแบบเบ็ดเสร็จ ก ๑ หลัง สนามบาสเกตบอล ๑ สนาม บ้านพักครู ๑ หลัง ส้วม ๖ ที่ บ้านพักภารโรง ๑ หลัง รวมเงินทั้งสิ้น ๗,๘๓๓,๐๐๐ บาท โดยเป็นงบผูกพันถึงปี ๒๕๓๖ ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างกับ หจก.ประกิตลักษณ์ก่อสร้างในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๖
          วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๕ กรมสามัญศึกษาได้พิจารณาแต่งตั้ง นายปราชญ์  ชาวสวน อาจารย์ ๒ ระดับ ๖ โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ให้ดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียนห้วยคล้าวิทยา
          วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕ กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนห้วยคล้าวิทยา เป็น “โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ๒ ห้วยคล้า”
          ต่อมาปีงบประมาณ ๒๕๓๖ กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้างอาคารเรียนเบ็ดเสร็จ ข และ ค รวมทั้งรั้ว ซุ้มประตู ห้องส้วม ๖ ที่ บ้านพักครู ๑ หลัง เสาธง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๓๙๑,๑๐๐ บาท ได้ลงนามสัญญา ก่อสร้างกับห้างหุ้นส่วนจำกัดชูทรัพย์วัสดุก่อสร้างเป็นงบ ๔,๓๙๑,๑๐๐ บาท
          ปีการศึกษา ๒๕๓๗ โรงเรียนได้เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ จำนวน ๒ ห้อง โดยกรมสามัญศึกษาได้อนุมัติให้เปิดสอนเมื่อ ๓๑ มีนาคม  พ.ศ.๒๕๓๗
          ปีงบประมาณ ๒๕๓๙ โรงเรียนได้รับจัดสรรให้ก่อสร้างอาคารโรงฝึกงานแบบ ๑๐๒/๒๗ จำนวน ๑ หลัง เป็นเงิน ๑,๘๘๐,๐๐๐ บาท และปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ ได้รับจัดสรรให้สร้างอาคาร ๒๑๖ ล (ปรับปรุง ๒๙) เป็นเงิน ๘,๔๖๒,๐๐๐ บาท โดยลงนามสัญญากับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดมนตรีก่อสร้าง
          วันที่ ๔  มกราคม พ.ศ.๒๕๔๐ กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียนโดยเพิ่มชื่อจากเดิมเป็นโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ๒ ห้วยคล้า (พรหมดิเรกอนุสรณ์) จนมาถึงปัจจุบัน